The gateway to business Nakhon si thammarat เราคือผู้นำคุณสู่ธุรกิจนครศรีธรรมราช
ศุกร์, 19 เม.ย. 2024
 
 

Pic of month

หนังสือพิมพ์เมืองนคร

No images

สภาพอากาศปัจจุบัน

วางแผนการเงินเมื่อเริ่มทำงาน
เขียนโดย Web01   
วันศุกร์ที่ 31 กรกฏาคม 2009 เวลา 07:23 น.

วางแผนการเงินเมื่อเริ่มทำงาน

           ฤดูร้อนเวียนมาถึงอีกปีหนึ่ง ซึ่งก็หมายถึง การจบการศึกษาของคนอีกรุ่นหนึ่ง และผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ ก็จะก้าวเข้าสู่ช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิต นั่นก็คือชีวิตการทำงาน

            ไม่ว่าผู้ที่จะก้าวสู่ชีวิตการทำงานเหล่านี้ จะสำเร็จการศึกษาในระดับไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ดิฉันอยากจะแนะนำ คือการวางแผนการเงิน น้องๆ (หรือจริงๆ แล้ว ต้องเรียกว่าลูกๆ) อาจจะสงสัยว่า เพิ่งจบมาได้เงินเดือนน้อยนิด สามารถวางแผนการเงินได้ด้วยหรือ ได้ค่ะ การวางแผนการเงินส่วนบุคคลสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ด้วยซ้ำไป แต่คนส่วนใหญ่ควรจะเริ่มหลังจากจบการศึกษา และเริ่มมีรายได้ครั้งแรก
            ผู้ที่รับราชการหรือทำงานบริษัทจะเป็นกลุ่มที่รายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ กลุ่มนี้ถือว่าโชคดีที่มีประเด็นให้กังวลน้อยกว่า กลุ่มที่มีรายได้สม่ำเสมอควรจะวางแผนการใช้จ่ายให้ดี เพื่อให้เงินรายได้สามารถใช้ได้ครบเดือน ไม่ต้องไปหยิบยืมคนอื่น หรือต้องขอเงินผู้ปกครองใช้ต่อไป นอกจากจะวางแผนการใช้จ่ายแล้ว ก็ควรวางแผนการออมด้วยค่ะ มีน้อยก็เก็บน้อย แต่ต้องเก็บออม เพราะหากไม่เริ่มเก็บก็จะไม่ได้เก็บเสียที
 
            ผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น ค้าขาย หรือมีอาชีพที่มีรายได้เป็นงานๆ ไป เช่น ศิลปิน นักร้อง นักแสดง พิธีกร นักเขียน หรือผู้มีอาชีพอิสระต่างๆ นอกจากจะต้องคิดถึงการออมแล้ว ยังต้องคิดถึงการหารายได้ด้วย ซึ่งการหารายได้นี้ยากกว่าการออมมากเลยทีเดียวค่ะ ท่านที่อยู่ในอาชีพเหล่านี้ทราบกันดี จึงต้องวางแผนทั้งรายรับและรายจ่ายให้ดี ไม่ให้เกิดการขัดข้องขึ้นได้
 
            เมื่อน้องๆ ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน น้องจะพบว่าทุกย่างก้าวมีค่าใช้จ่าย และหากน้องไม่ระวังให้ดี น้องอาจจะเงินหมดตั้งแต่กลางเดือนเลยทีเดียว คำแนะนำในการวางแผนการใช้จ่ายคือ จัดแบ่งรายจ่ายให้เป็นหมวดหมู่ หมวดอาหาร เครื่องแต่งกาย ค่าเดินทาง บันเทิง และที่สำคัญ อย่าลืมให้เงินกับคุณพ่อคุณแม่นะคะ เงินเดือนเดือนแรกที่ลูกให้กับพ่อแม่ แม้ว่าจะมีค่าเพียงหลักร้อยบาท ก็มีคุณค่าทางจิตใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้เลยทีเดียว เงินที่ให้กับท่านในช่วงแรกนี้ อาจจะไม่สูงมากนัก เพราะหากสูงมากน้องๆ ก็อาจจะมีเงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน และเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน
             ข้อควรระวังในช่วงวัยนี้คือ ระวัง อย่าก่อหนี้หรือใช้เงินอนาคตผ่านบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปทุกถนนหลักของจังหวัดเลยทีเดียว ต้องถือคติว่า "มีเท่าไร ใช้เท่านั้น" และไม่ใจอ่อน อยากได้นั่นได้นี่ เราเพิ่งเริ่มทำงาน อยากได้อะไร เอาไว้อีกหน่อยเก็บเงินได้มากๆ แล้วค่อยซื้อ และไม่ควรซื้อของราคาแพงเกินกำลังของตนเอง โดยเฉพาะของแบรนด์เนมจากต่างประเทศ พยายามหาดูของประเภทเดียวกันที่ทำในประเทศคุณภาพดี ราคาสมเหตุผล หากจะใช้ของตามแฟชั่น ให้เลือกที่ราคาถูก เพราะอีกสักพักแฟชั่นก็เปลี่ยน และควรจะทราบแหล่งซื้อของใช้ที่ราคาย่อมเยา เช่น ซื้อตามตลาดนัด เป็นต้น
 
              การออมที่ดีควรมีการตั้งเป้าหมายไว้ค่ะ การออมของคนในวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเป้าหมายการออมเพื่อการบริโภค คือออมเพื่อให้ซื้อของชิ้นใหญ่ หรือของมูลค่าสูงได้ เช่น เพื่อซื้อรถ หรือเพื่อเก็บไว้เป็นเงินดาวน์บ้าน เป็นต้น ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใดเลยนะคะ ที่เราจะตั้งเป้าการออมไว้เพื่อการบริโภคค่ะ เพียงแต่อย่านำไปบริโภคในสิ่งที่เกินตัว เช่น เก็บเงิน 1 ปี เพื่อซื้อกระเป๋าถือราคาแพง 1 ใบ เป็นต้น การบริโภคในที่นี้ หากเป็นข้าวของเครื่องใช้ ควรจะเป็นสินค้าคงทน เช่น เก็บเงินไว้ซื้อโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ หรือแม้แต่จะเก็บเงินไว้ท่องเที่ยว พักผ่อน เป็นต้น เก็บเงินไว้และเมื่อได้เงินพอจึงไปซื้อ ไม่ใช่อยากได้ก็ไปซื้อและไปเข้าคิวขอสินเชื่อ โทรทัศน์เครื่องละ 5,000 บาท ก็อาจจะต้องจ่ายเงินถึง 9,000 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยเข้าไปด้วยหากซื้อด้วยเงินผ่อน
 
               สำหรับ อัตราการออมนั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่วางไว้ หากเป็นการออมเพื่อการใช้จ่าย ก็ต้องวางแผนว่า จะใช้เวลาออมกี่เดือนจึงจะเก็บเงินได้พอที่จะนำไปซื้อ หากต้องการออมเพื่อเป้าหมายทั่วไป ดิฉันอยากจะแนะนำ ให้ออมไม่น้อยกว่า 10% ของรายได้ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น รายได้ 10,000 บาทต่อเดือน เก็บออม 1,000 บาท ใช้เป็นค่าอาหาร 4,000 บาท ค่าเดินทาง 2,000 บาท ค่าเสื้อผ้า 2,000 บาท ค่าใช้จ่ายจิปาถะ 1,000 บาท เป็นต้น ผู้ที่ต้องจ่ายค่าที่พักเอง ก็อาจจะเลือกหอพักที่ไม่ไกลจากสถานที่ทำงาน และนำเงินส่วนของค่าเดินทางมาจ่ายเป็นค่าที่พักอาศัย และอาจจะต้องประหยัดมากขึ้น โดยนำบางส่วนของค่าเสื้อผ้าและค่าใช้จ่ายจิปาถะมาจ่ายเป็นค่าที่พัก
 
               เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ควรจะหาช่องทางออมเงินเพิ่มขึ้นค่ะ และหากจะเป็นการออมเพื่อการลงทุนในอนาคตก็จะดีมาก เพราะเงินที่จะนำไปลงทุนต้องมีขนาดขั้นต่ำระดับหนึ่ง สมัยดิฉันเริ่มทำงาน จะเริ่มลงทุนได้ต้องมีเงินหลายหมื่นบาท แต่ทุกวันนี้ มีการลงทุนผ่านกองทุนรวม ทำให้ระดับเงินขั้นต่ำที่จะลงทุนต่ำลง เหลือประมาณ 5,000-10,000 บาท คนสมัยนี้จึงมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น การซื้อบ้าน การผ่อนบ้าน ก็เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่จะมีเงินไปวางมัดจำ หรือไปจ่ายเป็นเงินดาวน์ได้ ก็ต้องเก็บเงินจากก้อนเล็กๆ ให้เป็นก้อนใหญ่ก่อน
 
               การวางแผนการใช้จ่ายและการเริ่มเก็บออมเพื่อสะสมเงินไว้ซื้อของชิ้นใหญ่ หรือเพื่อใช้ลงทุนในอนาคต จึงเป็นเป้าหมายการเงินที่ผู้เริ่มทำงานควรจะยึดถือค่ะ
"ออมก่อนใช้คือคัมภีร์ที่พี่สอน
อยากเว้าวอนเยาวชนคนเก่งว่า
ออมวันนี้เพื่อมั่นคงในวันหน้า
น้องๆ จ๋าเริ่มชีวิตงานสราญใจ"

ที่มา : โดย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรุงเทพธุรกิจ 19 มีนาคม 2550