The gateway to business Nakhon si thammarat เราคือผู้นำคุณสู่ธุรกิจนครศรีธรรมราช
เสาร์, 20 เม.ย. 2024
 
 

Pic of month

หนังสือพิมพ์เมืองนคร

No images

สภาพอากาศปัจจุบัน

เมื่อลูกน้องทำงานไม่ได้ดั่งใจ
เขียนโดย Web01   
วันศุกร์ที่ 31 กรกฏาคม 2009 เวลา 07:16 น.

เมื่อลูกน้องทำงานไม่ได้ดั่งใจ 

        ปัญหาเรื่อง การบริหารคน เรื่องหนึ่งที่ดิฉันมีโอกาสรับฟังเสียงบ่นจากผู้บริหารและผู้ประกอบการอยู่เสมอ คือ ลูกน้องทำงานไม่ได้ดั่งใจ เมื่อถามต่อว่า ไม่ได้ดั่งใจอย่างไรคำตอบที่ได้มีทั้งเรื่องความสามารถในงานไม่เพียงพอและแสดงพฤติกรรมในการทำงานที่ไม่พึงปรารถนา
        เมื่อท่านผู้บริหารและผู้ประกอบการเล่าปัญหาจบ ก็วกเข้าสู่ช่วงสำคัญด้วยการถามดิฉันว่า แล้วจะทำอย่างไรดี
           ก่อนจะเข้าสู่วิธีการแก้ไข ขอเล่ามุมมองส่วนตัวในฐานะลูกค้าบ้าง ตัวดิฉันเองเมื่อไปใช้บริการหรือจับจ่ายที่ใด ก็มักจะลอบสังเกตสังกาพฤติกรรมในการทำงานของพนักงานที่นั่นเสมอ
          จากการสำรวจอย่างต่อเนื่องของดิฉันพบว่า ความสามารถหรือพฤติกรรมในการทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกและบริการ ยังไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน กล่าวอีกทางหนึ่งคือ มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง คนทำงานดีและมีใจให้งานก็มี คนที่ทำงานแบบขอไปที ที่ไม่ได้ดั่งใจ ทั้งเถ้าแก่และลูกค้าก็ไม่น้อย
หลายองค์กรมีการประเมินผลงานประจำปี และได้ลงทุนลงแรงไปกับการกำหนดตัวชี้วัดอย่าง KPI หรือกำหนด Competency ที่คาดหวัง แต่ปัญหา “ลูกน้องทำงานไม่ได้ดั่งใจ” ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายคนที่รับผลกระทบไปเต็มๆ อย่างหลีกหนีไม่พ้นก็คือลูกค้าและผู้ประกอบการนั่นเองค่ะ
ถ้าเช่นนั้น ในวันนี้เรามาคุยเรื่องบริหารผลงานของพนักงานกันสักหน่อย ดีไหมคะ
 
จากประสบการณ์ของดิฉันได้พบกับหลุมพรางที่เป็นกับดักท่านผู้ประกอบการในการบริหารผลงานของพนักงานดังนี้
1. เข้าใจว่าการบริหารผลงานคือกิจกรรมการประเมินผลงานที่ทำครั้งเดียวต่อปีก็เพียงพอแล้ว
2.ไม่มีการสื่อสารความคาดหวังต่อพนักงานอย่างชัดเจนทั้งเรื่องผลงานและพฤติกรรม รวมทั้งกฎ กติกามารยาทในการทำงาน
3. อาจมีการสื่อสารความคาดหวังแต่ไม่บอกสิ่งที่ตามมาว่า หากทำแล้วจะได้อะไรแล้วหากทำไม่ได้แล้วจะเกิดผลอย่างไรตามมา
4. หัวหน้างานโดยตรง ขาดความรู้ ทักษะและศิลปะในการสอนงานและการบริหารผลงาน
5. พนักงานไม่ได้รับความเห็นจากหัวหน้างานว่าตัวเองทำอะไรได้ดีและยังบกพร่องในเรื่องใด จึงเข้าใจไปเองว่าตนทำงานดีแล้ว
6. คนที่ทำงานได้ดั่งใจแต่ได้รับสิ่งตอบแทนจากการทำงานเท่ากับหรือใกล้เคียงกับคนที่ผลงานด้อยกว่า
หากปรากฏอาการข้างต้นในองค์กรของท่าน โปรดพิจารณาแนวทางแก้ไข แบบข้อต่อข้อดังนี้ค่ะ
1. ควรปรับมุมมองต่อการบริหารผลงานและดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นกระบวนการอันประกอบไปด้วย การกำหนดและสื่อสารความคาดหวังของงานนั้นการกำหนดวิธีและระยะเวลาประเมินการให้ข้อมูลย้อนกลับและพัฒนาความสามารถผู้ถูกประเมิน
 
2. ควรสื่อสารเรื่องความคาดหวังขององค์กรอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องผลงานวิธีการทำงาน พฤติกรรม รวมถึงกฎกติกามารยาทต่างๆตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงาน และตอกย้ำเป็นระยะ ทั้งอย่างเป็นทางการเช่นเรียกคุยเมื่อพนักงานเริ่ม บิดเบี้ยวและไม่เป็นทางการ เช่นการพูดคุยในระหว่างทำงาน หรือระหว่างประชุม
 
3. พนักงานจะเกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ดี และหลีกเลี่ยงที่จะประพฤตินอกลู่นอกทางหากเขาเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าทำแล้วจะได้อะไรหรือหากทำไม่ได้ตามนั้นจะเกิดอะไรขึ้น
อย่าหวังให้พนักงานเข้าใจได้เองนะคะเพราะร้อยทั้งร้อยเมื่อเราไม่ได้สร้างความกระจ่าง จะทำงานอย่างเข้าใจไปเองเสมอ
 
4. คุณภาพของหัวหน้างานในการบริหารผลงานจะต้องสูงมากค่ะจะเห็นได้ว่า ทักษะในการสื่อมาตรฐานของงาน การให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุง การชมการสอนงาน การบริหารสถานการณ์ขณะประเมินผลงาน ล้วนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ   ผู้ประกอบการควรประเมินคุณภาพของหัวหน้าขั้นต้นในการบริหารคนและพัฒนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะค่ะ มิฉะนั้น ผลงานของพนักงานจะไม่มีใครบริหาร
 
5. เรื่องพนักงานไม่ทราบว่าตัวเองทำงานดีหรือไม่ดี เป็นปัญหาโลกแตกเพราะบางองค์กรยุ่งเสียจนไม่มีเวลาพูดคุยกันเรื่องผลงานหรือบางครั้งวัฒนธรรมความเป็นพี่เป็นน้องกันสูงของ SME ทำให้ปากหนักไม่อยากจะพูดข้อเสียไปตรงๆ เกรงจะเสียใจ
 
            ทางออกคือ ให้ Feedback กันเป็นประจำ สม่ำเสมอจนเป็นเรื่องธรรมชาติที่สำคัญคือพูดเรื่องข้อดีข้อเสียอย่างชัดเจน อย่าคลุมเครือแต่วิธีการพูดคงต้องเป็นไปในเชิงบวกนะคะ จะชมสาม ติหนึ่ง หรือชมห้า ติหนึ่งก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับแรงต้านของพนักงาน
 
6. ผู้ที่ทำงานดีมีทัศนคติทางบวก และยังทุ่มเทให้กับองค์กรอีกด้วยควรจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน และยกย่องชมเชยอย่างแตกต่างชัดเจนจากพนักงานที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจทั้งนี้ ควรรวดเร็วทันกาลและบอกเขาอย่างชัดแจ้ง ว่าเขาทำดีอย่างไร เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มคนที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจเพิ่มสมาชิกใหม่ เพราะคนทำงานดีท้อแท้ ก็เลยเกิดอาการเกียร์ว่าง
 
      ผลงานของพนักงานแต่ละคนเมื่อรวมกันก็หมายถึงผลประกอบการขององค์กรค่ะ ฉะนั้นปัญหานี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่ท่านผู้ประกอบการจะต้องแก้ไขอย่ารอช้า…
 
        ประเดี๋ยวลูกค้าเปลี่ยนใจไปหารายอื่นที่ “ได้ดั่งใจ” มากกว่า จะปวดหัวหนักกว่านี้ค่ะ!!!
        บทความโดย : เสาวคนธ์ วิทวัสโอฬาร  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

ที่มา :http://www.nationejobs.com/